“โบลิเวีย” แลนด์ล็อคที่ยากจนแห่งลาตินอเมริกา กับสถิติรัฐประหารสูงลิ่วเกือบ 200 ครั้ง

ธงชาติ โบลิเวีย กรุงลาปาซ
ธงชาติโบลิเวีย ด้านหลังคือกรุงลาปาซ ศูนย์กลางหน่วนราชการของประเทศ (ภาพโดย OpenClipart-Vectors ใน Pixabay และ Rodrigo Gonzalez ใน Unsplash)

จากความพยายาม “รัฐประหาร” ในประเทศ โบลิเวีย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ผลลัพธ์คือคณะรัฐประหารที่นำโดย นายพลฮวน โฮเซ่ ซูนิกา (Juan Jose Zuniga) ผู้บัญชาการทหารบกโบลิเวีย ได้กลายเป็น “ผู้นำกบฏ” หลังยึดอำนาจได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะปฏิบัติการครั้งนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า หลังบุกเข้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงลาปาซ เมืองหลวงของโบลิเวีย แต่ถูกต่อต้านจากทั้งรัฐบาลและประชาชน นายพลฮวนจึงถูกตำรวจกุมตัวในที่สุด

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การ “รัฐประหาร” ครั้งแรกใน โบลิเวีย ประเทศนี้ผ่านสถานการณ์คล้าย ๆ กันครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่พวกเขาได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2367 (ค.ศ. 1825) ข้อมูลจาก The Guardian เผยว่า

“ยังไม่มีคำอธิบายกระจ่างชัดเกี่ยวกับ ‘การกบฏ’ เมื่อวันพุธ ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมง กับรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บ 12 ราย ถือเป็นสถานการณ์ตึงเครียดครั้งล่าสุดที่ครอบงำประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์การเมืองอันผันผวนสุดฉาวโฉ่ เพราะพวกเขาผ่านการปฏิวัติ (revolutions) และรัฐประหาร (coups) มาแล้วกว่า 190 ครั้ง”

ตัวเลขข้างต้นอาจจะสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่โบลิเวียเป็นเอกราชจากสเปน เพราะนั่นหมายถึงพวกเขามีการรัฐประหารเฉลี่ยไม่ถึง 2 ปีต่อ 1 ครั้ง

แต่ต้องขยายความเพิ่มอีกนิดว่า ตัวเลขดังกล่าวนับรวมความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกัน ระหว่างกลุ่มทางการเมืองระดับต่าง ๆ ในประเทศ ทั้งกลุ่มการเมืองระดับสูงที่อยู่ในเมือง และกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นตามหัวเมืองหรือชนบท

เรียกว่าการรัฐประหารในโบลิเวีย ที่สื่อฯ ต่างชาติใช้คำว่า “Coups” เป็นตัวเลขคร่าว ๆ 190 หนนั้น คือการนับรวมทั้ง “ความพยายาม” ยึดอำนาจ การรัฐประหาร การปะทะ และใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มคน ตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงระดับท้องถิ่น

ถึงอย่างนั้น ตัวเลขข้างต้นก็เป็นจำนวนที่น่าตกใจอยู่ดี บริบทสังคมและการเมืองอะไรส่งผลให้พวกเขาวนเวียนอยู่กับสถานการณ์ดังกล่าว?

โบลิเวีย หรือรัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย (Plurinational State of Bolivia) มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของทวีปอเมริกาใต้ ด้านเหนือและตะวันออกติดกับบราซิล ตะวันตกติดกับชิลีและเปรู ส่วนด้านใต้ติดปารากวัยและอาร์เจนตินา โบลิเวียจึงเป็นประเทศไร้ทางออกทะเล (Landlocked) โดยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก

หลังปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของสเปน และก่อตั้งประเทศด้วยชื่อของ ซิมอน โบลิบาร์ (Simon Bolivar) วีรบุรุษผู้นำการกอบกู้อิสรภาพให้อเมริกาใต้ โบลิเวียอยู่ภายใต้การครอบงำของกองทัพมาโดยตลอด

แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนจากระบบเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2525 และกองทัพถูกลดบทบาทลงไปมาก แต่การเมืองโบลิเวียยังคงประสบปัญหาความไร้เสถียรภาพเสมอมา รวมถึงปัญหารระหว่างเชื้อชาติ ได้แก่ กลุ่มผู้สืบเชื้อสายจากชาวยุโรป ลูกครึ่งชาวยุโรป-ชนพื้นเมือง (เมสติโซ) และคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่แบ่งออกเป็นเผ่าต่าง ๆ อีกที ทำให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศท่ามกลางความผันผวนจากปัญหาแวดล้อมมากมาย และความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

ภูมิศาสตร์อันย่ำแย่ และสภาพสังคม-การเมืองไร้เสถียรภาพนี้ ส่งผลให้โบลิเวียติดอันดับประเทศยากจนอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคลาตินอเมริกามาอย่างยาวนาน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มติชนออนไลน์. ปฏิวัติโบลิเวียเหลว ตำรวจรวบตัวผู้นำกบฏ หลังยึดอำนาจไม่กี่ชั่วโมง. 27 มิถุนายน 2567. จาก https://www.matichon.co.th/foreign/news_4650323

Anadolu Ajansı. Failed Coup in Bolivia: Unmasking the Plotters. June 28, 2024. From https://www.aa.com.tr/en/americas/failed-coup-in-bolivia-unmasking-the-plotters/3260368

กระทรวงการต่างประเทศ. รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย. 31 มีนาคม 2554. จาก https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2115e39c306000a1ab?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2567