ตามรอย “ลิซ่า” เยาวราชในอดีตไม่ได้มีดีแค่ร้านอาหาร แต่ยังเป็นศูนย์กลาง “ความบันเทิง”

ลิซ่า MV ROCKSTAR ถ่ายทำ ที่ เยาวราช เยาวราชในอดีต เป็น ศูนย์รวม ความบันเทิง
LISA (ภาพ : LISA - ROCKSTAR Official Music Video)

เพียงแค่ ลิซ่า ศิลปินระดับโลก ปล่อย MV เพลง ROCKSTAR ที่ถ่ายทำบนถนนเยาวราช ก็เรียกเสียงฮือฮาจากคนไทยทั้งประเทศและเหล่าแฟนคลับทั่วโลก ซึ่งย่านเยาวราชนี้ หลายคนทราบกันดีว่าเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมานับร้อยปี และยังเป็นที่ตั้งภัตตาคารและร้านอาหารชื่อดังมากมาย แต่รู้ไหมว่า เยาวราชในอดีต นอกจากจะเป็นแหล่งของกินแสนอร่อยที่หลายคนยกนิ้วให้แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมความบันเทิง หรือเป็น “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” อีกด้วย

สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เติบโตในเยาวราช มีโอกาสศึกษาประวัติความเป็นมาในถิ่นฐานย่านเกิดจนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช เล่าว่า

ตำนานร้านอาหารและแหล่งของกินเยาวราชที่โดดเด่นคือ “ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา” ซึ่งเป็นอาคารสำคัญ เพราะมีการจัดงานมงคลสมรสอยู่บ่อยครั้ง

อาคารนี้ปรากฏในแผนที่เก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ก่อนย้ายมาอยู่ที่บริเวณเสือป่า อาหารของภัตตาคารเต็มไปด้วยอาหารอาหารฝรั่ง-จีน มีข้อมูลว่า น่าจะเป็นภัตตาคารแห่งแรกของไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีร้านในตำนานอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น “เยาวยื่น” สมัยรัชกาลที่ 6 “ภัตตาคารก๋ำจันเหลา” เป็นต้น

เยาวราชในอดีต ไม่ได้มีดีแค่ร้านอาหาร แต่ยังเป็นศูนย์กลางความบันเทิง แหล่งรวมมหรสพ อย่างโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วด้วย

สมชัย เล่าว่า อาคารสูงรุ่นแรกๆ ของไทย ล้วนตั้งอยู่ที่เยาวราช เช่น ตึก 7 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็น “Entertainment Complex” ศูนย์รวมสิ่งบันเทิง หลักฐานคือข้อความประกาศว่า “มีเต้นรำทุกคืน” ที่มีทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ

เยาวราชยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วมากกว่า 20 โรง เรียงรายอยู่ตลอดเส้นเจริญกรุง-เยาวราช ร้านอาหารสำคัญๆ มักอยู่ข้างอาคารเหล่านี้ แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทย โรงภาพยนตร์เยาวราชไม่มีหนังใหม่ฉาย ต้องฉายเรื่องเก่าซ้ำๆ จนผู้คนท่องบทพูดได้คล่องปากเลยทีเดียว

ด้าน วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมจีน ปรมาจารย์ด้านจีนศึกษาในประเทศไทย ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับจีนในแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน ครบครันด้วยสาระน่ารู้ ให้นิยามถึง เยาวราชในอดีต ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจว่า

“เยาวราชก็คือ ฟิฟท์ อเวนิว ของนิวยอร์ก คือ ฌ็องเซลิเซ่ ของฝรั่งเศส คือ กินซ่า ของญี่ปุ่น ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในเยาวราช เช่น ไปนิวยอร์ก ไปถึงต้องไปเข้าแถวซื้อตั๋วที่จะไปดูละครเวที พอเสร็จออกมาก็นั่งกินข้าว ตรงนั้นก็มีร้านอาหารเยอะแยะหรูหรา เหมือนกันเวลาเราไปปารีส เราไปถนนฌ็องเซลิเซ่ กลางคืนเราก็ไปดูมูแล็งรูฌ เสร็จออกมาก็ยังมีอาหารฝรั่งเศสให้กินมากมาย เมื่อก่อนเยาวราชเป็นแบบนี้…”

ทั้งบอกเล่าถึงเยาวราชในฐานะที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าดังในตำนาน ในอดีต สินค้าต่างชาติ-สินค้านำเข้าต่าง ๆ ต้องมาซื้อที่เยาวราช ก่อนถูกสยามสแควร์ชิงบทบาทดังกล่าวไป เพราะถนนเพชรบุรีตัดใหม่ถูกทำให้กลายเป็นย่านบันเทิง สนองความต้องการของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเย็น ห้างสรรพสินค้าใหม่จึงออกมาจากเยาวราช

ถึงอย่างนั้นบทบาทด้านอาหารการกินของเยาวราชยังไม่เปลี่ยนแปลง อาหารจีนที่หรูที่สุดยังรวมศูนย์ที่เยาวราชเช่นเดิม ต้องมากินเยาวราชเท่านั้น และเยาวราชก็ยังคงจุดเด่นเรื่องอาหารการกินมาถึงทุกวันนี้ 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และสมชัย กวางทองพานิชย์. เวทีเสวนา “กินอย่างไรให้ถึงจีน เปิดพิกัดเมนูเด็ดและร้านลับเยาวราช”. ในงาน Upskill Thailand 2023 “ถึงรส ถึงชาติ” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2567