ถนนเยาวราช ถนนสายประวัติศาสตร์ ใน MV เพลง “ROCKSTAR” ของ “ลิซ่า”

ภาพ ลิซ่า กลาง ถนนเยาวราช LISA ROCKSTAR
ภาพลิซ่ากลางถนนเยาวราช (LISA - ROCKSTAR (MV Teaser) - LLOUD Official)

ใน MV เพลง “ROCKSTAR” ลิซ่ายืนอยู่กลาง “ถนนเยาวราช” บริเวณที่ตัดกับ “ถนนผดุงด้าว” ย่าน-ถนนที่สำคัญของกรุงเทพฯ พื้นที่ที่ลิซ่ายืนอยู่นั้นสำคัญอย่างไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ศิลปวัฒนธรรมจะพาไปรู้จักกับถนนเยาวราช และถนนผดุงด้าว

สำเพ็ง-เยาวราช เป็นย่านเก่าแก่ย่านหนึ่งของชาวจีนในกรุงเทพฯ โดยเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระนครแห่งใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก คือบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

แต่บริเวณที่โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง ดังนั้น พระองค์จึงโปรดให้ชุมชนบริเวณนั้นย้ายไปอยู่ที่สวนบริเวณวัดสามปลื้ม ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง หรือก็คือสำเพ็งในปัจจุบันนั่นเอง 

ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า “…ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…”

เรียกได้ว่า สำเพ็งเป็นย่านของชุมชนชาวจีนแห่งแรกที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี และหลังจากนั้นมาสำเพ็งจึงเริ่มกลายเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ มีชาวจีนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมาก 

การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในสำเพ็งจะอาศัยแนวแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับขนถ่ายสินค้าเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องมีตรอกซอยจำนวนมากเพื่อเชื่อมการสัญจรทางบกสู่ท่าน้ำหรือท่าเรือ ขุนวิจิตรมาตราบรรยายถึงย่านสำเพ็งว่า

“มีตรอกมีซอกซอย สำหรับเดินถึงกันตลอดทั้งสองซีก ซีกขวาเป็นตรอกลงแม่น้ำ ซีกซ้ายเป็นตรอกไปออกทุ่งทางบก สรุปแล้วก็ว่าสามเพ็งหรือจะเรียกว่า ‘ย่านสามเพ็ง’ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านสกัดทางตะวันตกเป็นคลองโอ่งอ่าง ด้านสกัดทางตะวันออกเป็นคลองผดุงฯ ด้านเหนือเป็นแนวถนนเจริญกรุง ด้านใต้เป็นแนวลำแม่น้ำเจ้าพระยา มีถนนใหญ่สายเดียวคือถนนสามเพ็ง นอกนั้นเป็นตรอกเป็นซอยไปทั้งสิ้น เป็นที่อยู่ของชนชาวจีน”

สำเพ็ง สมัย รัชกาลที่ 5
สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเหลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๕๖)

ชาวจีนในสำเพ็งประกอบอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะการค้าขาย เวลาต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นสำเพ็งก็เริ่มมีความแออัดไม่เป็นระเบียบ ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่สร้างด้วยวัสดุติดไฟง่าย ใช้ไม้ไผ่ทำหลังคามุงแฝกทำให้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในบริเวณนั้น พระองค์จึงถือโอกาสปรับปรุงสำเพ็งเสียใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตัดถนน และจัดระเบียบที่อยู่อาศัย

ใน พ.ศ. 2435 จึงเริ่มมีการตัดถนนเยาวราช (เดิมชื่อถนนยุพราช) สร้างเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2443 รวมเวลา 8 ปี

สำหรับถนนผดุงด้าวนั้นเป็นถนนสายสั้น ๆ ตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ตัดผ่านถนนเยาวราช แล้วไปบรรจบถนนพาดสาย ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าถนนผดุงด้าวตัดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดกันแน่ แต่สันนิษฐานว่าถนนสายนี้ใช้เดินทางสัญจรกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเป็นอย่างน้อย

ป้าย ถนนผดุงด้าว
ป้ายถนนผดุงด้าว (YouTube : matichon tv)

ใน พ.ศ. 2475 กระทรวงมหาดไทยได้กราบทูลรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานชื่อถนนบางสายในจังหวัดพระนคร กรมพระอาลักษณ์จึงได้พิจารณาชื่อให้สอดคล้องกับถนนสายอื่น ๆ โดยรอบ จนได้มา 2 ชื่อ คือ ถนนผดุงเผ่า และถนนผดุงด้าว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเลือกนามถนนสายนี้ว่า ถนนผดุงด้าว

หากเริ่มตั้งแต่หัวถนนผดุงด้าวบริเวณถนนเจริญกรุงจนถึงปลายสุดถนน ก็จะได้ชื่อที่คล้องจองกันว่า เจริญกรุง ผดุงด้าว เยาวราช พาดสาย

ถนนผดุงด้าวมีความยาวประมาณ 200 เมตร เป็นถนนสายสั้น ๆ และค่อนข้างแคบ ผู้คนจึงนิยมเรียกว่าซอยมากกว่าถนน ปัจจุบันถนนผดุงด้าวเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ ซอยเท็กซัส ซึ่งเรียกตามชื่อของโรงภาพยนตร์เท็กซัส ที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในย่านสำเพ็ง-เยาวราช ซึ่งที่ตั้งปัจจุบันคือ ร้านอาหารเท็กซัส สุกี้ สาขาเยาวราช

นอกจากนี้ ในอดีตบริเวณถนนผดุงด้าวยังเป็นแหล่งเริงรมย์ย่านค่ำคืนอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วย

นับเป็นเวลามากกว่าร้อยปีที่ย่านสำเพ็ง-เยาวราช ยังคงความเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวกิน-ช็อปที่ไม่เคยหลับใหล และล่าสุดนี้ ภาพ “ถนนเยาวราช” ก็ได้ปรากฏใน MV เพลงของศิลปินระดับโลก LISA – ROCKSTAR

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน. (2561). กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน))

https://www.silpa-mag.com/history/article_26449 

https://www.silpa-mag.com/history/article_35971 

https://www.silpa-mag.com/culture/article_99665

https://youtu.be/HPdL75p32-o?si=h9oCLruDZfSjyuhP 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2567