สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถามหมอบรัดเลย์ หากอเมริกาน่าอยู่ “ถ้างั้นท่านมาที่นี่ทำไมกันล่ะ”

หมอบรัดเลย์ เคย เข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
หมอบรัดเลย์

“หมอบรัดเลย์” คือมิชชันนารีชาวตะวันตก ที่คนไทยยุคนี้คุ้นชื่อกันดี หมอบรัดเลย์มีบทบาทด้านการแพทย์ในสยามหลายอย่าง เช่น ทำการผ่าตัดครั้งแรกในไทย ปลูกฝี กระตุ้นให้ผู้หญิงไทยเลิกอยู่ไฟ ทั้งยังมีบทบาทด้านการพิมพ์ ด้วยความรู้ทั้งหลายที่พกมาจากโลกตะวันตกนี้เอง ทำให้หมอบรัดเลย์มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้านายสยามหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

หมอบรัดเลย์ บันทึกถึงการเข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ปรากฏในหนังสือ “สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์” (พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์มติชน) ไว้ว่า

บ่ายวันหนึ่ง เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงส่งเรือบดไปรับหมอบรัดเลย์ เพื่อให้เข้าเฝ้าถวายการรักษาพระราชชนนีของพระองค์ ซึ่งภรรยาของหมอบรัดเลย์ก็ติดตามไปด้วย

ช่วงที่เตรียมเบิกตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งไม่เคยพระราชทานพระราชานุญาตให้ชาวอเมริกันหรือชาวยุโรปที่เป็นผู้ใหญ่เข้าเฝ้ามาก่อน “เจ้าฟ้าน้อย” (พระนามเรียกขานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็ทรงเล่นเครื่องดนตรีลาว เพื่อให้หมอบรัดเลย์และภรรยาเพลิดเพลินไปพลางๆ

เมื่อถึงเวลาต้องเข้าเฝ้า ผู้นำทางพยายามย้ำว่า หมอบรัดเลย์และภรรยาต้องคุกเข่าหมอบกราบถวายบังคมอย่างที่ทุกคนทำต่อพระพักตร์พระราชชนนี แต่หมอบรัดเลย์ก็ยืนกรานปฏิเสธ

ระหว่างนั้น มีผู้ขอให้หมอบรัดเลย์ตรวจพระอาการของเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง ซึ่งขณะที่กำลังตรวจ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินเข้ามาพอดี หมอบรัดเลย์จึงลุกขึ้นโค้งคำนับอย่างสุภาพและเดินตรงเข้าไปเฝ้า จับพระหัตถ์และทูลซักถามถึงพระอาการของพระองค์

“พระองค์ทำท่าแปลกพระทัยมากที่หมอซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังยังจำเป็นต้องถามไถ่ฟังอาการก่อนจึงจะสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร และจะรักษาได้อย่างไร สีพระพักตร์ของพระองค์เหมือนจะตรัสว่า ‘งั้นท่านก็คงรู้ไม่มากน่ะซี ถ้าท่านต้องถามฉันเสียก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะรักษาอย่างไร’ พอข้าพเจ้าทูลสารภาพอย่างเปิดเผยว่าไม่สามารถบอกได้ทันทีก่อนที่จะทราบอาการ คงจะทำให้ความเชื่อมั่นที่กำลังจะทรงมีในข้าพเจ้าเรรวนไปหมด” หมอบรัดเลย์บันทึก

จากนั้น หมอบรัดเลย์ได้ทูลถามพระอาการต่อไป โดยมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นล่าม เมื่อทูลถามได้สักพักก็กราบทูลสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีว่า พระโรคที่ทรงประชวรที่สำคัญคือ พระนาภีผูก ประกอบกับการเบื่อเสวยพระกระยาหาร และพระโรคปวดไขข้อ แล้วก็สั่งพระโอสถถวาย ซึ่งทรงรับเสวยตามนั้น

หมอบรัดเลย์บันทึกอีกว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา ที่เป็นบ้านเกิดของหมอบรัดเลย์ เช่น เดินทางมาเป็นเวลานานเท่าใด ต้องจ่ายค่าโดยสารเท่าไร ตั้งใจจะอยู่นานเท่าใด

“ในที่สุดก็ทรงถามว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่น่าอยู่หรือไม่ เมื่อทรงได้รับคำตอบว่าน่าอยู่มาก ก็ทรงถามออกมาตรงๆ ว่า ‘ถ้างั้นท่านมาที่นี่ทำไมกันล่ะ’ เราทูลตอบว่า เรามาตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้าซึ่งตรัสว่า ‘เจ้าจงไปทุกหนทุกแห่งในโลก และสั่งสอนพระคัมภีร์แก่สัตว์โลกทุกผู้’ ทั้งหมดนี้เราทูลอธิบายประกอบไปด้วย

แต่เรื่องต่างๆ ที่สนทนากันนี้ เจ้าฟ้าน้อยไม่ได้ทรงแปลไปตรงๆ นัก คงจะทรงเกรงพระราชชนนีจะทรงทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า จุดประสงค์หลักของเราก็คือการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูเจ้า”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2567