มรณกรรม 5 “ยุวกษัตริย์” เหยื่อการแย่งชิงอำนาจแห่งกรุงศรีอยุธยา!

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา อยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ตลอดการดำรงอยู่ 417 ปี ของ กรุงศรีอยุธยา ในฐานะราชธานี การชิงราชสมบัติ “สำเร็จโทษ” อดีตกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ถือเป็นเรื่องปกติ ความรุนแรงเหล่านี้ไม่เกี่ยงอายุ จึงมี “ยุวกษัตริย์” อยุธยาถึง 5 พระองค์ ที่สวรรคตจากเหตุการณ์ชิงอำนาจตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย

เพราะผู้ที่จะครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาได้นั้น ต้องเข้มแข็งและมีอำนาจบารมีมากพอด้วย กษัตริย์เด็กที่อ่อนแอจึงมีแนวโน้มจะถูกโค่นอำนาจและกำจัดทิ้งโดยผู้ชิงราชสมบัติ ซึ่งอาจเป็นพระญาติวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่ เรียกว่าไม่ปล่อยให้เติบใหญ่จนแข็งกล้าแล้วมาสั่นคลอนอำนาจในภายหลัง

ยุวกษัตริย์ ทั้ง 5 พระองค์ ที่ถูก “สำเร็จโทษ” ในประวัติศาสตร์อยุธยา ประกอบด้วย เจ้าทองจันทร์, สมเด็จพระรัษฎาธิราช, พระยอดฟ้า, สมเด็จพระเชษฐาธิราช และสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ในจำนวนนี้ เป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ 3 พระองค์ และราชวงศ์สุโขทัย 2 พระองค์ ตามลำดับ

เกิดอะไรขึ้นบ้างกับยุวกษัตริย์แต่ละพระองค์?

มรณกรรมแห่ง 5 “ยุวกษัตริย์”

พระองค์แรก เจ้าทองจันทร์ หรือ “ทองลัน” พระราชโอรสวัย 15 พรรษาของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) ครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาเพียง 7 วัน ก็ถูก พระราเมศวร แห่งราชวงศ์ละโว้ (ลพบุรี) สำเร็จโทษ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าว่า “ศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก (พ.ศ. ๑๙๒๕) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ราชสมบัติ ๑๓ ปี … จึงเจ้าทองลันราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ วัน … สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวัง กุมเอาเจ้าทองลันได้ ให้พิฆาตเสีย ณ วัดโคกพระยา”

กษัตริย์องค์ต่อมาที่ตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจคือ สมเด็จพระรัษฎาธิราช หรือ “รัฏฐาธิราช” ยุวกษัตริย์ผู้มีพระชนม์เพียง 5 พรรษาเท่านั้น

สมเด็จพระรัษฎาธิราช เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งสวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษโดยไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางข้าราชการจึงอัญเชิญสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมารขึ้นครองราชย์

เพียง 5 เดือนหลังจากนั้น พระไชยราชา พระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระรัษฎาธิราช และเป็นพระอนุชาต่างมารดา (เกิดแต่พระสนม) ในสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ได้เสด็จจากเมืองพิษณุโลกมาจับสมเด็จพระรัษฎาธิราชประหารชีวิต

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า “ศักราช ๘๗๖ ปีจอ ฉศก (พ.ศ. ๒๐๕๗) พระไชยราชาธิราชเจ้าซึ่งเป็นราชวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดี คิดประทุษร้ายจับพระรัฏฐาธิราชกุมารสำเร็จโทษ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าได้เสวยราชสมบัติ”

ยุวกษัตริย์องค์ที่ 3 คือ พระยอดฟ้า ผู้ครองราชสมบัติขณะพระชนมายุ 11 พรรษา โดยมี แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ สมเด็จพระชนนี เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน พระยอดฟ้าจึงครองราชย์แต่ในนาม ส่วนแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กุมอำนาจแท้จริง และได้ลอบคบชู้กับ ขุนวรวงศา จนตั้งครรภ์ จากนั้นยกชู้รักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วสมคบคิดกันสังหารพระยอดฟ้า ดังความใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“ครั้นศักราช ๘๙๑ ปีฉลู เอกศก (พ.ศ. ๒๐๗๒) ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับสองเดือน”

ต่อมาเป็น 2 ยุวกษัตริย์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งราชวงศ์สุโขทัย ได้แก่ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา และ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ซึ่งถูกยกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อพระเชษฐาขณะพระชนมายุเพียง 9 พรรษา แต่ทั้ง 2 พระองค์ล้วนไม่พ้นชะตากรรมอย่างที่ยุวกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ต้องเผชิญ คือถูกสำเร็จโทษ ต่างเพียงเหตุการณ์และช่วงเวลา โดยครั้งนี้เกิดจากขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นมีชาติกำเนิดค่อนข้างคลุมเครือ บางแหล่งอ้างว่าพระองค์เป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดกับสตรีชาวบ้าน แต่มารับราชการแล้วไต่เต้าจนมีอำนาจบารมีในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยได้เป็น “เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์”

พ.ศ. 2171 ในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช มารดาของเจ้าพระยากลาโหมฯ เสียชีวิต ขุนนางน้อยใหญ่ไปร่วมงานหมด เมื่อสมเด็จพระเชษฐาฯ เสด็จออกว่าราชการ ไม่พบขุนนางเข้าเฝ้าฯ ก็ทรงระแวงว่าเจ้าพระยากลาโหมฯ อาจเป็นกบฏ จึงเตรียมการกำจัดขุนนางผู้นี้

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทราบเรื่อง จึงกล่าวกับขุนนางทั้งหลายว่า “เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง ท่านทั้งปวงจะว่าประการใด” จากนั้นนำกำลังเข้ายึดพระราชวังหลวง แล้วจับสมเด็จพระเชษฐาฯ สำเร็จโทษ ดังความใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“เจ้าพระยากลาโหมเข้าในพระราชวังได้ รู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินหนี สั่งให้พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำไปตามแต่ในเพลากลางคืนวันนั้น รุ่งขึ้นเช้าพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ทันพระเจ้าแผ่นดิน ณ ปากโมกน้อยล้อมจับมาได้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สั่งให้เอาไปสำเร็จโทษตามประเพณีกษัตริย์ พระเชษฐาธิราชอยู่ในราชสมบัติปี ๑ กับ ๗ เดือน”

พระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาถูกยกขึ้นเสวยราชย์ แต่เพราะยุวกษัตริย์ยังเยาว์เกินจะว่าราชการแผ่นดินได้ หรือเพราะคอยโอกาสอันเหมาะสมก็ตาม หลังพระอาทิตยวงศ์ครองราชสมบัติเพียง 6 เดือน ขุนนางทั้งปวงได้อัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมฯ ขึ้นเถลิงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยละเว้นพระอาทิตยวงศ์ไว้ ไม่ถูกสำเร็จโทษในทันที

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพระอาทิตยวงศ์ได้สมคบคิดกับขุนนางบางส่วนก่อกบฏ จึงถูกปราบปรามและประหารชีวิต พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่าถึงว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระราชวัง สั่งให้พิจารณาเอาพวกกบฏซึ่งคบคิดกับพระอาทิตยวงศ์ได้สิ้น ก็สั่งให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ แตลงแกง”

ทั้งหมดคือชะตากรรมของ “ยุวกษัตริย์” กรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่างมีมรณกรรมจากผลพวงของการแย่งชิงอำนาจ เป็นเหยื่อทางการเมืองของผู้ใหญ่ที่สูงวัยกว่า อำนาจบารมีพร้อมกว่า แม้จะได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และต้องแลกด้วยชีวิต

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

โรม บุนนาค; อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร. ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะได้ครองอำนาจ! ๕ ยุวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ถูกผู้ใหญ่ฆ่าตายเรียบ!. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)

หอสมุดแห่งชาติ. (2521). พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) : ประชุมพงศาวดาร เล่ม 38. กรุงเทพฯ : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.

หอสมุดแห่งชาติ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ). (2505). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร : โอเดียนสโตร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2567