“เจ้าจอมมารดาน้อย” หลานพระเจ้าตาก หม่อมคนแรกในรัชกาลที่ 4 แต่ไม่เป็นที่โปรดปราน!?

สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 พระราชสวามี ใน เจ้าจอมมารดาน้อย หลานพระเจ้าตาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าจอมมารดาน้อย เป็น “หลานพระเจ้าตาก” และเป็นหม่อมท่านแรกในรัชกาลที่ 4 แต่เล่ากันว่าท่านไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีเท่าใดนัก เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร?

เจ้าจอมมารดาน้อย เป็นธิดาใน พระอินทรอภัย (บางแแห่งเขียนเป็นพระอินทร์อภัย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “พระเจ้าตาก” ดังนั้น เจ้าจอมมารดาน้อยจึงสืบเชื้อสายในฐานะ “หลานพระเจ้าตาก”

พระอินทรอภัยได้เข้ารับราชการ มีตำแหน่งด้านการแพทย์ สามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานได้ กระทั่งไปสนิทชิดเชื้อกับฝ่ายใน จนเกิดความสัมพันธ์กับเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงต้องโทษถึงขั้นถูกประหารชีวิต ปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

“ในปีกุนนั้น (พ.ศ. 2358) คุณไพบุตรเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นเติบใหญ่ขึ้นก็เรียนวิชาแพทย์ชำนิชำนาญ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นที่พระอินทร์อำไพอยู่ในกรมหมอ ได้รับราชการเข้าไปรักษาไข้ในพระราชวังเป็นนิตย์ คิดมิชอบมิได้รู้พระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลักลอบทำชู้ด้วยเจ้าจอมอ่อน จอมอิ่ม จอมไม้เทด กับทนายเรือกคนหนึ่ง โขลนคนหนึ่ง โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระเป็นสัตย์ สั่งให้ลงพระราชอาญาแล้วประหารชีวิตเสียทั้งหญิงทั้งชาย”

หลังจากพระอินทรอภัยสิ้นแล้ว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 และพระบรมราชชนนีในเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเป็นผู้อุปการะธิดาของพระอินทรอภัย โดยรับมาเป็นข้าหลวงในพระองค์

ต่อมา ธิดาของพระอินทรอภัย คือ เจ้าจอมมารดาน้อย ได้เป็นหม่อมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย 2 พระองค์ คือ หม่อมเจ้านพวงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา) และ หม่อมเจ้าสุประดิษฐ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ต้นราชสกุล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา)

อ่านเพิ่มเติม : กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส “พระราชโอรส” พระองค์แรกในรัชกาลที่ 4

พ.ศ. 2367 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จออกผนวช ขณะมีพระชันษา 21 ปี และทรงครองสมณเพศต่อไปอีก 27 พรรษา

ช่วงนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จออกมาประทับที่พระราชวังเดิมกับเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และทรงดูแลเลี้ยงดูพระโอรสทั้ง 2 พระองค์ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นอย่างดี

ปี 2379 เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีสวรรคต เจ้าจอมมารดาน้อยได้ย้ายออกไปอยู่กับ พระพงษ์นรินทร์ ผู้เป็นลุง (พระพงษ์นรินทร์เป็นพี่ชายพระอินทรอภัย) ส่วนหม่อมเจ้านพวงศ์ และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ เสด็จไปอยู่กับภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎที่วัดบวรนิเวศ

หลังจากภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาสิกขา เพื่อขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงไม่พอพระทัยเจ้าจอมมารดาน้อย ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ทรงเขียนในพลับพลาป้อมเพ็ชร กรุงเก่า ถึงเจ้าจอมมารดาพึ่ง ที่ทรงเรียกว่า “เต่าของข้า” เนื้อความทรงเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินมากรุงเก่า มีใจความตอนหนึ่งว่า (เน้นคำโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์)

“ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้วเวลาเช้าโมงหนึ่ง กับ 4 บาท มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งเรือที่นั่งของข้า เกินหน้าเรือตำรวจเรือที่นั่งรองทุกลำ แข่งจนเก๋งเคียงกันยาเรือที่นั่ง

แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพยจะร้องไห้ มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใคร เรือนั้นมีม่านบังมิด มีผู้หญิงนั่งท้ายหลาย (คน) เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างในกระบวร จึงไม่มีใครห้าม ปล่อยให้พายขึ้น สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก ข้าถามหลายคำว่าอะไร ๆ เรือใคร ก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะ ด้วยบานเต็มที่ จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวเราะเยาะ

ข้าคิดจะให้เอาปืนยิงตามกฎหมาย ก็กลัวจะถูกคนตาย เขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบา ทำคนตายง่าย ๆ พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เหนผิดที่แล้วจึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมา จึงพายหนีห่างออกไป ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา

ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ มาทำหน้าเปนเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าทารกำนัน น่าชังนักหนา ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับคุมเรือมาส่ง ตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรทราบแล้ว ได้มีไปส่งถึงท้าวศรีสัจจา ท้าวโสภานิเวศน์ ให้เอาตัวจำไว้ให้มั่นคงกว่าข้าจะกลับลงไป อยากจะใครให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเปนเช่นนั้น เหมือนคุณสำลี มารดาพระองค์เจ้านัดดา ถึงลูกท่านรักท่านเลี้ยงเป็นหนักหนา มารดาท่านเอาไว้ไม่ได้ เอาไปตัดหัวเสียเป็นอย่างมีมาแล้ว

ข้าได้ยินว่าคนพวกเจ้าตลับ เจ้าครอกหอไปด้วย พวกนั้นเป็นพวกใกล้เคียงกับยายน้อยป้าของเต่า เต่าอย่าไปไถ่ถามว่ากล่าวอะไรวุ่นวาย มันจะด่าให้อายเขา มันไม่เจียมตัวว่าชั่ว มันยังถือตัวเป็นเมียข้า มันจึงตามมาล้อต่อหน้าเมียใหม่ ๆ สาว ๆ เป็นเจ้าเป็นนาย เมื่อจับมันร้องว่าจะไปตามเสด็จกรุงเก่าด้วย”

“คุณสำลี” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึง คือ เจ้าจอมมารดาสำลี พระราชธิดาในพระเจ้าตาก ผู้เป็นเจ้าจอมมารดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2 แต่ถูกประหารชีวิตไปในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 จากกรณีกาคาบบัตรสนเท่ห์

ส่วน “เจ้าตลับ” คือ หม่อมเจ้าตลับ และ “เจ้าครอกหอ” คือ หม่อมเจ้าหอ ทั้งสองเป็นธิดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) พระราชโอรสในพระเจ้าตาก ซึ่งถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา สมัยรัชกาลที่ 2

เจ้าจอมมารดาน้อย ถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 คราวนั้นพระองค์โปรดให้พระราชทานเพลิงศพที่สวนท้ายวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ซึ่งภายหลังมีการสร้าง “วัดตรีทศเทพ” ขึ้นในบริเวณนั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เจ้าจอมมารดาน้อย” เชื้อสายพระเจ้าตาก ห้าวจน ร.4 ทรงเกือบสั่งยิง-ตัดหัวตามพ่อ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2567