10 ขุนนางไฮโซกลุ่มแรกของไทย ที่ใช้ “ราชทินนาม” เป็น “นามสกุล” มีใครบ้าง?

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ราชทินนาม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม

“ราชทินนาม” คือ ชื่อที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้พระสงฆ์และขุนนาง เพื่อกำกับสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์, กำกับยศและบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนางตั้งแต่ชั้น “ขุน” ขึ้นไป เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 การแต่งตั้งบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนางก็เป็นอันยุติลง

แต่บรรดา “ขุนนาง” หรือ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารในระบอบใหม่ จำนวนหนึ่งต้องการใช้  ราชทินนาม ที่เคยได้รับพระราชทาน มาเป็นนามสกุล ด้วยเห็นว่าราชทินนามที่ได้รับพระราชทานนั้นถือเป็นเกียรติยศแก่ตนเองและครอบครัว

ต่อมาเมื่อมี พระราชบัญญัติชื่อบุคคลพุทธศักราช 2484 มาตรา 18 ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย” 

ผู้ที่เคยรับพระราชทานราชทินนาม และต้องการใช้ราชทินนามนั้นๆ เป็นนามสกุล จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งข้าราชพลเรือนและทหารกลุ่มแรกที่มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นกลุ่มแรก ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2484 ได้แก่

  1. จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ใช้ชื่อสกุลว่า “พิบูลสงคราม”
  2. นายพลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ใช้ชื่อสกุลว่า “อดุลเดชจรัส”
  3. นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)  ใช้ชื่อสกุลว่า “ธำรงนาวาสวัสดิ์”
  4. นายพันตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ใช้ชื่อสกุลว่า “เชวงศักดิ์สงคราม”
  5. นายพลโท หลวงมังกรพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ใช้ชื่อสกุลว่า “พรหมโยธี”
  6. นายพลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาลันทนะ) ใช้ชื่อสกุลว่า “เวชยันตรังสฤษฏ์”
  7. นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ใช้ชื่อสกุลว่า “บริภัณฑ์ยุทธกิจ”
  8. นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ใช้ชื่อสกุลว่า “เสรีเริงฤทธิ์”
  9. หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ใช้ชื่อสกุลว่า “วิจิตรวาทการ”
  10. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป-ระ โปรคุปต์) ใช้ชื่อสกุลว่า “สมาหาร”

จากนั้นก็มีข้าราชการกลุ่มอื่นๆ มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ “ราชทินนาม” ที่เคยได้รับพระราชทาน เพื่อใช้เป็น “นามสกุล”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณิชชา จริยเศรษฐการ, บุศยารัตน์ คู่เทียม บรรณาธิการ. อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2567