“เจ๊สัวเนียม” เศรษฐีจีนเจ้าของตำนาน ยก “ตลาดเก่า” เยาวราช ให้ลูกสาว

พระยาอิศรานุภาพ เอี่ยม บุนนาค รูปปั้น พระศรีทรงยศ หรือ เจ๊สัวเนียม ยก ตลาดเก่า เยาวราช ให้ ลูกสาว
(ซ้าย) พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) (ขวา) รูปปั้นพระศรีทรงยศ (เจ๊สัวเนียม)

ธรรมเนียมชาวจีนมักยึดถือปฏิบัติว่า ลูกชายคือผู้รับทรัพย์สมบัติหรือสืบทอดมรดก แต่สำหรับ พระศรีทรงยศ (เนียม) หรือที่ชาวบ้านสมัยนั้นเรียกกันว่า “เจ๊สัวเนียม” เศรษฐีจีน เจ้าของ “ตลาดเก่า” เยาวราช กลับยกทรัพย์สมบัติให้ลูกสาว ทั้งที่มีลูกชาย 2 คนเป็นผู้สืบสายตระกูล ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร นักเขียนผู้สืบเชื้อสายเจ๊สัวเนียม เล่าในหนังสือ “นายแม่” ว่า สมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากบ้านโซวเฮงไถ่ ตลาดน้อย ที่ส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ให้ทายาทฝ่ายหญิงดูแลรักษาต่อเนื่องถึง 4 ชั่วอายุคน ก็มี พระศรีทรงยศ (เนียม) หรือ “เจ๊สัวเนียม” (เจ้าสัวเนียม) ที่ยกทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลให้ลูกสาว นั่นก็คือ ตลาดเจ๊สัวเนียม หรือที่คนยุคนี้เรียกกันว่า ตลาดเก่า เยาวราช

บิดาของเจ๊สัวเนียมเป็นชาวจีนแซ่เตีย ออกจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในสยาม และแต่งงานอยู่กินกับสตรีชาวไทยชื่อ “ทองดี” ซึ่งเป็นลูกสาว 1 ในจำนวน 11 คนของพระศรีศุภโยคหรือพระนรินทร์ทิพย์ (พิมพ์ประไพระบุว่า ผู้เขียนสาแหรกตระกูลที่มอบข้อมูลให้ ไม่แน่ใจว่าเป็นคนไหน ผู้เขียนสาแหรกตระกูลจึงให้มาทั้ง 2 ชื่อ) ซึ่งทองดีเป็นน้องสาวร่วมบิดากับ “เจ้าจอมมารดาอิ่ม” ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระศรีทรงยศ (เนียม) หรือที่ชาวบ้านย่านนั้นคุ้นกันว่า เจ๊สัวเนียม เศรษฐีจีน เป็นคนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย น่าจะอายุมากกว่าหลวงอภัยวานิช (จาด) ต้นตระกูล “จาติกวณิช” เจ้าของโซวเฮงไถ่สักรุ่นหนึ่ง

เจ๊สัวเนียมเป็นผู้พัฒนาตรอกเจ๊สัวเนียม ตลาดที่พ่อค้าจีนนิยมมาค้าขาย เรียกได้ว่าเป็นตลาดสุดฮอตของพ่อค้าจีนในกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ และคงความคึกคักต่อเนื่องมานับร้อยปี จนผู้คนเรียกขานสองข้างทางของตรอกนี้ว่า “ตลาดเก่า”

อย่างไรก็ดี ชื่อตรอกเจ๊สัวเนียม มีการเปลี่ยนแปลงเป็น “ตรอกพระยาไพบูลย์” ตามราชทินนามของ “เอี่ยม” บุตรเขยคนโต ที่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับราชการเป็นพระยาไพบูลย์สมบัติ จางวางคลังสินค้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาไพบูลย์สมบัติก็ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น “พระยาอิศรานุภาพ” อธิบดีกรมมหาดไทยฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ชื่อตรอกจึงเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “ตรอกอิศรานุภาพ”

เจ๊สัวเนียม มีลูก 7 คน ได้แก่ คุณหญิงนิ่ม สมรสกับพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) คุณหญิงน้อย-คุณหญิงนวม ทั้งสองสมรสกับพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช พลางกูร) ทองคำ สมรสกับพระประเสริฐวานิช (เสง เศรษฐบุตร) รุ่ง-เขย ผู้เป็นลูกชาย 2 คน และ ล้อม ลูกสาวคนสุดท้อง

หากเจ๊สัวเนียมยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติของคนจีน ทรัพย์สินมรดกก็ต้องตกกับรุ่งและเขย ลูกชายเพียง 2 คนของตระกูล แต่เจ๊สัวเนียมไม่ได้คิดเช่นนั้น และตัดสินใจยกทรัพย์สมบัติให้ลูกสาว ดังที่พิมพ์ประไพเล่าในหนังสือว่า

“ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหลานของคุณหญิงนวม อาหารบริรักษ์ อธิบายให้ฟังว่า เจ๊สัวเนียมนั้นสำนึกเสมอว่าตัวเองมั่งคั่งขึ้นมาในแผ่นดินสยาม จึงยกที่ดินให้ลูกหลานฝ่ายหญิงเป็นผู้ปกปักรักษา เพราะแน่ใจว่าจะไม่ทิ้งแผ่นดินหนีไปไหน ส่วนเงินทองมอบให้ฝ่ายชายไปเป็นทุนทรัพย์ในการทำมาหากิน ฟังคล้ายกับว่าในสมัยนั้นเชื่อกันว่าลูกชายมีโอกาสเดินทางไปตั้งหลักแหล่งที่อื่นมากกว่าฝ่ายหญิง”

ด้วยเหตุนี้ ตลาดเก่า เยาวราช จึงเป็นสมบัติล้ำค่าที่ เจ๊สัวเนียม เศรษฐีจีน ยกให้คุณหญิงนิ่ม ลูกสาวคนโต และถ้าใครแวะไปแถวตลาดเก่าก็จะเจอ “ศาลเจ๊สัวเนียม” เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจีนย่านนั้นมาถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร” นายแม่. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 3 มิถุนายน 2567