ยามศึกรบ ยามสงบค้า “ชุมชนชาวพม่า” ตั้งรกรากค้าขายในอยุธยาตรงไหน?

กรุงศรีอยุธยา ส่งออก ของป่า เช่น หนังกวาง ไป ญี่ปุ่น อโยธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เรามักคิดถึงพม่าในบทบาทศัตรูที่ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา แต่ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยา-พม่า ยังมีอีกหลายมิติ ทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการตั้งรกราก ที่ปรากฏหลักฐาน “ชุมชนชาวพม่า” อยู่ในกรุงศรีอยุธยา

กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เล่าไว้ในหนังสือ “Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษาและโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

สมัยกรุงศรีอยุธยา การค้ากับพม่าโดยมากจะอยู่บริเวณหัวเมืองชายแดน เช่น ตาก อุทัย กาญจนบุรี ราชบุรี มะริด ตะนาวศรี อาจมีบ้างที่เข้ามาติดต่อถึงกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากการค้าของพม่าเน้นลงใต้สู่อ่าวเมาะตะมะ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สะดวกและเหมาะสมกว่า ช่วงหลังจึงมีพ่อค้าพม่าเข้ามากรุงศรีอยุธยาไม่มาก ประกอบกับการเข้าไปมีอิทธิพลต่อล้านนา พม่าจึงเข้าไปติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

โดยทั่วไปหากพ่อค้าพม่าจะเข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา มักแทรกปนมากับพ่อค้าชาวมอญ กะเหรี่ยง เงี้ยวหรือไทใหญ่ และอาศัยเครือข่ายของชาวมอญในการเข้าถึงทรัพยากรของกรุงศรีอยุธยา เพราะความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม

เป็นไปได้ว่า ในชุมชนมอญที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งพื้นที่ในและรอบนอกเกาะเมืองอยุธยา จะมีสมาชิกชุมชนบางส่วนเป็นชาวพม่าหรือเครือญาติของพม่ารวมอยู่ด้วย

ชุมชนชาวพม่า อยู่ที่ไหนในกรุงศรีอยุธยา?

กำพลบอกว่า บันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) บอกว่า ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอยุธยากับพม่าค่อนข้างเลวร้าย พบว่า มีพ่อค้าชาวพม่านำสินค้าต่างๆ จากพะโคและอังวะมาขายในตลาดอยุธยา อาทิ กำยาน กำมะถัน ขี้ผึ้ง อัญมณีต่างๆ เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งชุมชนชาวพม่าในรัชสมัยนี้

ชุมชนชาวพม่า ในกรุงศรีอยุธยา มาปรากฎหลักฐานในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นยุคปลายกรุงศรีอยุธยาเข้าไปแล้ว

ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์กบฏมอญ นำโดยสมิงทอ ยึดเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ นักวารุตองกับมังรายจอสู ผู้นำพม่าที่เมืองเมาะตะมะมีความหวั่นกลัวสมิงทอกับพรรคพวก จึงพาสมัครพรรคพวกราว 300 คน หลบหนีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณารับไว้ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ วัดมณเฑียร ตรงริมคลองทางทิศตะวันออกของวังหลัง วัดสวนหลวงสบสวรรย์ (ที่ตั้งของพระเจดีย์สุริโยไทในปัจจุบัน) นักวารุตองกับมังรายจอเป็นกลุ่มพ่อค้า ในครั้งนั้นได้ “พระราชทานตราคุ้มห้ามให้ค้าขาย” ด้วย

ภายหลัง ชุมชนชาวพม่า ขยายไปครอบคลุมพื้นที่ ตลาดวังหลัง และ ตลาดวัดงัวควาย (วัดวัวหรือวัดเขาวัว ใกล้วัดศรีโพธิ์) ซึ่งจาก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” พบว่า มีชาวพม่าประกอบอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขาย สำหรับนำไปปรุงอาหารอยู่ที่ตลาดวัดงัวควายด้วย

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีชาวพม่าอีกกลุ่มเข้ามาคือ หุยตองจา เจ้าเมืองทวาย โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บางปลาสร้อย (ชลบุรี) ไกลจากฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ชาวพม่าคุ้นเคย

เหตุที่ทรงให้ไปตั้งบ้านเรือนไกลถึงเพียงนั้น กำพลสันนิษฐานว่า น่าจะเพราะราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์ไม่ไว้วางใจ เกรงจะเป็นไส้ศึก เพราะเป็นช่วงเวลาที่อยุธยาเริ่มมีเรื่องกระทบกระทั่งกับพม่า ไม่ใช่ช่วงที่มีสัมพันธไมตรีเหมือนอย่างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567