สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ผู้เป็น “พระอัครมเหสี” ในรัชกาลที่ 4 เพียง 9 เดือน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรง มี พระอัครมเหสี พระองค์แรก คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ทรงเป็น “พระอัครมเหสี” พระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ทว่าหลังจากได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศได้เพียง 9 เดือน พระองค์ก็สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี (แรกพระราชสมภพคือ หม่อมเจ้าโสมนัส) เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมงิ้ว ประสูติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2377

ผ่านไปไม่กี่ปี พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระเมตตารับหม่อมเจ้าโสมนัสมาเลี้ยงดูในฐานะพระราชธิดาบุญธรรม

ใน “คาถาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สังเขป” พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า

ครั้งนั้น รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาพระธิดาของพระราชบุตรเอกผู้สิ้นพระชนม์ ไว้ในที่พระราชธิดาอันควรค่าแก่การยกย่องใหญ่ ทรงหวังให้ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินผู้จะครองราชย์ต่อไป เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว

รัชกาลที่ 4 ทรงพรรณนาอีกว่า

“อีกทั้ง (ทรงหวัง) ความเป็นไปแห่งพระเกียรติยศอันเกิดแต่พระปรีชาฉลาดของพระองค์ที่ได้ทรงเลี้ยงดูเธอมาอย่างดีตลอดกาลนานด้วย จึงทรงชุบเลี้ยงเธอให้ไพบูลย์ด้วยโภคะและยศมิใช่น้อยโดยลำดับ เกินพระราชบุตรของพระองค์เสียอีก

เมื่อพระราชทานอิสริยยศแก่เธอ ก็ทรงยกเสมอพระราชธิดา เธอจึงมีนามตามพระราชทินนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

อันพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีนั้นเป็นผู้มีบุญ ทรงไว้ซึ่งลักษณะของราชกัญญา เป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งนัก เป็นประหนึ่งว่าพระราชธิดาในพระองค์ที่ทรงโปรด เธอจึงเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก บริชนก็มาก เธอเจริญด้วยโภคะ ด้วยยศ และด้วยบริวารเหมือนพระราชธิดาทั้งปวง ล่วงเสียซึ่งหมู่พระญาติในวงศ์เดียวกัน”

หลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ได้ 1 ปี พระองค์ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีขึ้นเป็นพระมเหสี จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในที่สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี ถือเป็น “พระอัครมเหสี” พระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ต่อมามีพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี

ใน พ.ศ. 2395 สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระครรภ์ แต่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ประชวรเป็นพระยอด (ฝี) ในพระนาภี (ท้อง) แพทย์สมัยนั้นยังไม่มีความเข้าใจในโรค คิดว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทรงพระครรภ์ จึงรักษาไปตามนั้น

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ทรงพระครรภ์ได้ 7 เดือน ก็ประสูติพระราชกุมาร เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2395 ทว่าพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 พระองค์นี้ทรงมีพระชนมชีพได้เพียง 1 วัน (บางแห่งระบุว่าเพียง 7 ชั่วโมง) ก็สิ้นพระชนม์

ส่วนพระองค์เองนั้น พระยอดที่เป็นพระบุพโพแก่ก็แตกออกมา ครั้งถึงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2495 สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีก็สิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุ 19 พรรษา

รัชกาลที่ 4 ทรงพรรณนาถึงบั้นปลายพระชนมชีพของพระอัครมเหสีพระองค์แรกของพระองค์ไว้ว่า

“ขณะที่พระนางเจ้ากำลังทรงเจริญด้วยโภคสมบัติ อีกทั้งบริวารยศและอิสริยยศโดยยิ่งอยู่นั้น จำเพาะถูกอำนาจบาปเคราะห์อันเกิดมีมาหลายอย่าง และอกุศลกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนด้วย มารุมต้องเอา จึงมีพระโรคเรื้อรังเบียดเบียน อันแพทย์ผู้ใดผู้หนึ่งไม่สามารถจะเยียวยาได้

เธอเสวยสุขอันโอฬารไพบูลย์ด้วยทรัพย์ที่ให้เกิดความยินดียิ่งๆ เป็นอันมากอยู่ไม่ทันนาน จำเดิมแต่ได้อภิเสกในตำแหน่งนารีรัตน์มาประมาณ ๙ เดือนเท่านั้น ก็ถึงซึ่งภาวะเป็นอนิจจังไป”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร. “เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพงศาวดารในรัชกาลของพระองค์ด้วยพระองค์เอง”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2567

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๔ สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีสิ้นพระชนม์”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567