“พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก” ปางปราบผีพื้นเมือง?

พระพิฆเนศ พระคเณศ พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพิฆเนศ เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยนิยมสักการะบูชาเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาเทพเจ้าฮินดู พระพิฆเนศมีหลายปาง แต่ปางที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจไม่ทราบว่ามีปางนี้ด้วย คือ พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก ซึ่งพระพิฆเนศปางนี้ในไทยที่คนนิยมไปชมหรือบูชา อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และที่ “ปราสาทนครหลวง” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงที่ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท มาจากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

กรมศิลปากร ระบุข้อมูลว่า พระพิฆเนศองค์นี้มีรูปแบบศิลปะชวาตะวันออก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 มี 4 กร ความสูง 172 เซนติเมตร ลักษณะเป็นประติมากรรมจำหลักศิลานูนสูง ประทับนั่งบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์

มองที่หัตถ์ขวาบนจะเห็นว่าถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ ส่วนหัตถ์ขวาล่างและหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงศิราภรณ์ประดับด้วยกะโหลกมนุษย์ แม้แต่กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท และภูษาทรง ก็ล้วนประดับด้วยลวดลายกะโหลกมนุษย์ และสวมสายยัชโญปวีตรูปงู

ตามประวัติระบุว่า ผู้สำเร็จราชการเกาะชวา ซึ่งเป็นชาวฮอลันดา น้อมเกล้าฯ ถวายพระพิฆเนศนั่งทับกะโหลกแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสชวา เมื่อ พ.ศ. 2439

ทำไมพระพิฆเนศถึงต้องนั่งบนบัลลังก์กะโหลก?

เรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี เล่าว่า

“คำถามคือ พระพิฆเนศไปฆ่าคนหรือ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่มี 2 ความหมาย

ความหมายที่นักโบราณคดีกระแสหลักบางกลุ่ม เขาจะบอกว่าหมายถึงบริวารพระอิศวร เพราะพระอิศวรมีปีศาจเป็นบริวาร ร่ายรำเวลาพระอิศวรเสด็จไปไหน แล้วพระพิฆเนศเป็นหัวหน้าคณะปีศาจ ซึ่งนั่นเป็นความหมายในอินเดียเขาเกี่ยวกับเรื่องพระอิศวร แต่พระพิฆเนศไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพระอิศวร พยายามจะโยงลากเข้าไปหาพระอิศวรให้ได้

พระพิฆเนศเป็นเทวดาพื้นเมือง จริงๆ แล้วก็เดิมทีเป็นผีพื้นเมือง ถูกสถาปนาเป็นเทวดาทีหลัง ทีนี้เมื่อพระพิฆเนศมาถึงชวา มาถึงเซาธ์อีสต์เอเชีย ก็คือต้องปราบผีพื้นเมือง การนั่งทับกะโหลกเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือผีพื้นเมือง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

กรมศิลปากร. “โบราณวัตถุ ๑๐ ชิ้นห้ามพลาดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”.

รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว. “พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก ต้นแบบพระพิฆเนศในไทย”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567