“พระราชวังหลวง” และ “วัดสำคัญ” แห่งกรุงศรีอยุธยา ร่องรอยความรุ่งเรืองแผ่นดินสยาม

พระราชวังหลวง และ วัดสำคัญ แห่ง กรุงศรีอยุธยา ในงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย”

ชมความอลังการ-ฟังเรื่องเล่าของ “พระราชวังหลวง” และ “วัดสำคัญ” แห่ง กรุงศรีอยุธยา ใน “มรดกสยาม ๓ สมัย” ความสำคัญของพระราชวังโบราณในฐานะศูนย์กลางการปกครองและศาสนา ส่วนสำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกพูดถึงน้อยเพราะเหลือเพียงซาก มีอะไรบ้างที่เราควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยแห่งนี้? 

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม และ อาจารย์ประทีป เพ็งตะโก ได้เจาะลึกอย่างละเอียดบนเวที “พระราชวังหลวงและวัดสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา” ในงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” โปรเจกต์แห่งความสุขของการเดินทางแห่งปี โดย BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พร้อมด้วยพันธมิตร เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567

✨ “กรุงศรีอยุธยา” เมื่อแรกสถาปนา

อ.ประทีป เล่าว่า การสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้าอยู่ทองเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดเป็นราชธานีที่อยู่ระหว่างแม่น้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ เจ้าพระยา ลพบุรี และป่าสัก ทำให้เมืองมีสภาพเป็นเกาะ รวมถึงลำน้ำสายย่อย คลองต่าง ๆ ที่ตัดแบ่งพื้นที่โดยรอบออกเป็นพื้นที่ย่อย ๆ เกาะเล็กเกาะน้อยมากมายพระราชวังหลวงที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองโปรดให้สร้างคือพื้นที่บริเวณกลางเกาะเมือง ปัจจุบันคือที่ตั้งของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพราะมีเอกสารสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่า ได้ยกพื้นที่พระราชวังเดิมที่ถูกไฟไหม้ให้เป็นวัด คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระราชวังใหม่ของสมเด็จพระบรมไตรฯ ขยับขึ้นเหนือ 

✨ พระราชวังหลวงระยะที่ 2

พระที่นั่งประจำพระราชวังหลวงระยะที่ 2 หรือตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรฯ ได้แก่ 1) พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เป็นที่ออกว่าราชการหรือรับแขกบ้านแขกเมือง 2) พระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาท เป็นที่ประทับหลัก 3) พระที่นั่งวิหารสมเด็จ โดยกำแพงพระราชวังในระยะนี้หนาราว 1 เมตรเท่านั้น ทั้งยังไม่มีป้อมปราการ ซึ่งจะเป็นงานขยายในช่วงหลัง

ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นไป มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังขนานใหญ่ ถือเป็นยุครุ่งเรืองและมีข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังหลวงปรากฏอยู่ในเอกสารจำนวนมาก

✨ ความยิ่งใหญ่ของพระราชวังหลวงตอนปลาย

อ.ประทีป เล่าถึงการสร้างพระราชวังหลวงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นไปคือห้วงเวลาที่มีเอกสารต่างชาติบันทึกถึงมากที่สุด โดยระบุว่ามีความใหญ่โตหรูหราและประดับไปด้วยทอง มีการขยายพระราชวังไปทางทิศเหนือจนเป็นแนวเดียวกับกำแพงเมืองและทางตะวันออก มีการสร้างพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นสมัยที่พื้นที่พระราชวังกับวัดพระศรีสรรเพชญ์กลายเป็นพื้นที่เดียวกัน

“พระราชวังหลวง จึงเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม เศรษฐกิจ ส่วนราชการที่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองก็อยู่ตรงนี้” อ.ประทีป กล่าว

✨ ทราบหน้าตาพระที่นั่งแต่ละหลังได้อย่างไร?

อ.สันติ เล่าว่า พระที่นั่งแต่ละหลังในปัจจุบันเหลือเพียงรากฐานเท่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของพระที่นั่งในพระราชวังหลวงอยุธยาทั้งหมดจึงเป็นการนำเสนอจากการสร้างขึ้นโดยข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ที่นำมาประกอบ และพอจะประมวลผลได้เท่านั้น เรียกว่าเป็น “รูปแบบสันนิษฐาน”

อีกหลักฐานที่ช่วยได้คือภาพวัดหรือบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาในอยุธยา อ.สันติ เล่าว่า “ข้อมูลจากชาวต่างชาติมีประโยชน์มาก แต่ต้องใช้อย่างวิเคราะห์ เพราะเขาอาจได้ข้อมูลจากชาวบ้าน การสื่อสารอาจมีความบกพร่อง ชาวต่างชาติไม่ได้เรียนวาดเขียน แต่ฝึกการเขียนลายเส้นมาเบื้องต้น เพราะการเขียนหนังสือไม่เห็นภาพ จึงมีการสเก็ตภาพมาด้วย”

✨ พระที่นั่งแต่ละองค์บอกอะไรบ้าง

อ.สันติ ได้อธิบายรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมของพระที่นั่งในพระราชวังหลวงแต่ละองค์ เช่น พระที่นั่งวิหารสมด็จ ที่ทราบว่ามีการบูรณะสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เพราะมีปรางค์ทิศเหมือนวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างกันในยุคนั้นและกลายเป็นแบบอย่างสืบทอดกันมาจนถึงสมัยพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ

แต่พระที่นั่งบางองค์ก็มีปัญหาในการศึกษาพอสมควร อ.สันติ ยกตัวอย่างพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ที่แทบไม่เหลือร่องรอย เพราะฐานรากถูกรื้อทำลายไปเกือบหมดทำได้เพียงการเทียบกับหลักฐานสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสร้างเลียนแบบพระที่นั่งองค์นี้

✨ วัดสำคัญบอกเล่าอะไรบ้าง?

อ.สันติ ยกตัวอย่างวัดสำคัญสมัยอยุธยาหลายวัดด้วยกัน พร้อมอธิบายว่าวัดเล่านี้บอกเล่าถึงภูมิปัญญา คติความเชื่ออะไรได้บ้าง เช่น ซุ้มประตูวัดกุฎีดาว สมัยอยุธยาตอนปลาย เสาเป็นซุ้มซ้อน 4 อัน ตามแนวความคิดของเรือนชั้น มีความหมายทั้งเรื่องความงาม และความรู้ด้านวิศวกรรม คือการช่วยพยุงน้ำหนัก ให้กับโครงสร้างทั้งหมดได้

อีกตัวอย่างคือพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ใช้หลักเรือนซ้อนชั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบขอม อ.สันติ เล่าว่า “พระเจ้าปราสาททองเอามาปรับใช้ ไม่ได้ลอกแบบ แต่ใช้ภูมิปัญญาปรับ โดยไม่ทิ้งแบบดั้งเดิมคือเอายอดปรางค์ใส่ไว้ด้วย”

อ.สันติ ยังเล่าถึงระเบียงคดที่วัดมหาธาตุ ซึ่งมีพระพุทธรูปหินทรายล้อมรอบ ถามว่าล้อมทำไมเมื่อพระบรมธาตุตรงกลางสื่อถึงพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว โดยเผยว่าเป็นคติพุทธเรื่องพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ในอดีต ไม่ใช่พระพุทธเจ้าศากยโคดม ซึ่งคตินี้ไม่ได้พบแค่ในวัดพระศรีมหาธาตุ วัดต่าง ๆ ที่มีพระพุทธรูปล้อมล้วนสื่อพระอดีตพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

✨ อยุธยา : ศิลปกรรมงามล้ำ

อ.สันติ ให้แง่คิดว่า ศิลปกรรมในกรุงศรีอยุธยาล้วนเผยความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ ในอดีต ทั้งจากพุกาม ล้านนา และขอม หากเราวิเคราะห์ศิลปกรรมเหล่านี้ได้ จะทำให้เราอ่านประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น

ด้าน อ.ประทีบ สรุปว่า เรื่องราวของอยุธยา 417 ปี ที่ดำรงสถานะเป็นราชธานี มีวัดกว่า 500 วัดในปริมณฑลและเกาะรอบ ๆ เป็นความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง แม้ปัจจุบันพื้นที่จริงสลายหายไปเยอะ ถ้าเราศึกษาอย่างละเอียดก็จะสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของอยุธยาได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2567