“คณะเจ้าผู้เลือก” ระบอบ “เลือกตั้ง” จักรพรรดิที่ไม่เหมือนใครในยุโรปยุคกลาง

คณะเจ้าผู้เลือก อาร์ชบิชอปโคโลญ อาร์ชบิชอปแห่งไมนซ์ อาร์ชบิชอปเทรียร์ เคานต์พาลาไทน์ ดยุกแห่งซัคเซิน มาร์ควิสแห่งบรันเดนบูร์ก กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย
คณะเจ้าผู้เลือก เรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่ อาร์ชบิชอปโคโลญ อาร์ชบิชอปแห่งไมนซ์ อาร์ชบิชอปเทรียร์ เคานต์พาลาไทน์ ดยุกแห่งซัคเซิน มาร์ควิสแห่งบรันเดนบูร์ก และกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เมื่อกล่าวถึงระบอบราชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ (King) หรือจักรพรรดิ (Emperor) เป็นประมุข ย่อมทำให้นึกถึงการสืบสันตติวงศ์ การครองราชสมบัติต่อกันภายในราชวงศ์ หรือสายเลือดเดียวกัน แต่ยังมีระบอบการปกครองหนึ่งในยุคกลางของยุโรป ที่ตำแหน่งจักรพรรดิไม่ได้ส่งต่อให้ทายาทของคนเก่าโดยตรง แต่ผู้สืบราชสมบัติต้องผ่านการ “คัดเลือก” โดยการลงมติของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะเจ้าผู้เลือก” อาณาจักรที่เคยใช้รูปแบบการปกครองนี้คือ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) เป็นอาณาจักรของกลุ่มชนพูดภาษาเยอรมัน ตั้งอยู่บริเวณยุโรปตอนกลางและตะวันตก คือบริเวณดินแดนเยอรมัน กลุ่มประเทศที่ต่ำ (Low Countries-เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก) ออสเตรีย เช็ก และอิตาลี

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยถือกำเนิดและดำรงอยู่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9-19 คือตลอดสมัยที่เรียกว่า “ยุคกลาง” ของยุโรป แต่แม้จะได้ชื่อว่า “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” อาณาจักรแห่งนี้ก็ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ชาวโรมัน และไม่ได้เป็นจักรวรรดิแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม : “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นโรมัน แถมไม่ใช่จักรวรรดิ!?

แต่ความพิเศษของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คือ พวกเขา “เลือกตั้ง” ตำแหน่งจักรพรรดิกันโดย “อิเล็กเตอร์” นั่นคือ คณะเจ้าผู้เลือก บ้างเรียก เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก (Prince-elector) หรือ “คัวร์เฟือสท์” (Kurfürst-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ในภาษาเยอรมัน ซึ่งเริ่มใช้เมื่อราว ค.ศ. 1273 

คณะเจ้าผู้เลือกเป็นผู้มีสิทธิหรืออำนาจโดยชอบธรรมในการเลือกคนที่จะครองบัลลังก์สืบต่อจากจักรพรรดิองค์เก่า บุคคลกลุ่มนี้ประกอบด้วยเจ้าผู้ครองนคร (King, Duke, Count, Margrave) และพระราชาคณะ หรืออัครมุขนายก (Archbishop) ในจักรวรรดิทั้งหมด 7 คน

ในจำนวนนี้ ฝ่ายฆราวาส ประกอบด้วย กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (King of Bohemia) ดยุกแห่งซัคเซิน (Duke of Saxony) เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ (Count palatine of the Rhine) และมาร์ควิสแห่งบรันเดนบูร์ก (Margrave of Brandenburg)

ส่วนฝ่ายศาสนา หรือพระราชาคณะ ได้แก่ อาร์ชบิชอปแห่งไมนซ์ (Mainz) อาร์ชบิชอปโคโลญ (Cologne) และอาร์ชบิชอปเทรียร์ (Trier)

คณะเจ้าผู้เลือกมีฐานันดรศักดิ์เป็นรองเพียงพระจักรพรรดิเท่านั้น และถือเป็นสมาชิกภาพใน สภามหาจักรวรรดิ (Imperial Diet) องค์กรที่คล้ายคลึงหน่วยงานนิติบัญญัติ อันเป็นพื้นที่พูดคุย ต่อรอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเหล่าเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งนอกจากคณะเจ้าผู้เลือกแล้ว ยังมีเจ้าผู้ครองนครรัฐน้อย-ใหญ่ ทั้งฆราวาสและพระราชาคณะทั่วจักรวรรดิ

ขั้นตอนคือ เมื่อตำแหน่งกษัตริย์แห่งเยอรมัน หรือจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ว่างเว้นลง คณะเจ้าผู้เลือกจะประชุมกันเพื่อลงมติว่า จะมอบตำแหน่งให้เจ้าองค์ไหน โดยการลงมติต้องเป็นเอกฉันท์และเสร็จสิ้นภายใน 30 วันหลังการสวรรคตของจักรพรรดิองค์ก่อน

จากนั้น ผู้ถูกเลือกจะได้รับการสวมมงกุฎโดยสมเด็จพระสันตะปาปา (Pope) แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ประมุขสูงสุดทางจิตวิญญาณ จึงจะถือเป็นพระจักรพรรดิโดยสมบูรณ์ ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวมีต้นแบบมาจากปฐมจักรพรรดิของชาวเยอรมันอย่าง ชาร์เลอมาญมหาราช (Charlemagne the Great) 

ความเป็นมาของธรรมเนียมดังกล่าว เกิดจากภาวะปัญหาผู้สืบราชบัลลังก์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งภายในจักรวรรดิยาวนานหลายสิบปีตั้งแต่ ค.ศ. 1254 ฝ่ายศาสนจักรจึงเข้ามาแทรกแซง ด้วยการสร้างข้อตกลงกับเหล่าเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้งหลายให้มี “คณะเจ้าผู้เลือก” ขึ้นมา ดังจะเห็นว่า พระราชาคณะทั้ง 3 ซึ่งมีสิทธิเลือกจักรพรรดิด้วยนั้น คือพระผู้ใหญ่สายเยอรมันที่แต่งตั้งโดยคริสตจักรที่กรุงโรม หรืออยู่ในอาณัติของพระสันตะปาปานั่นเอง

เรียกว่าเป็นการครอบงำผู้นำทางโลกโดยผู้นำทางธรรมอยู่กลาย ๆ

ตำแหน่งประมุขสูงสุดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงโดดเด่นไม่เหมือนใคร ท่ามกลางการสืบทอดอำนาจภายในราชวงศ์ของประมุขทั่วยุโรป หรือแม้แต่ทั่วโลกในสมัยเดียวกัน ซึ่งเข้มงวดกับการส่งต่อราชบัลลังก์ในสายเลือดอย่างมาก แต่ธรรมเนียมข้างต้นกลับปฏิบัติอย่างต่อเนื่องภายในเครือรัฐของกลุ่มชนที่พูดภาษาเยอรมันซึ่งรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 16 เลยทีเดียว

จักรพรรดิองค์สุดท้ายที่สืบราชสมบัติด้วยธรรมเนียมนี้คือ จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 (Karl V, ครองราชย์ ค.ศ. 1519-1556) โดยหลังรัชสมัยของพระองค์ จักรพรรดิองค์ถัด ๆ มาเพียงถูกลงมติเลือกให้สืบราชสมบัติเท่านั้น ไม่มีพิธีสวมพระมหามงกุฎจากองค์สมเด็จพระสันตะปาปาแต่อย่างใด

ภายหลังยังมีการเพิ่มเสียงของคณะเจ้าผู้เลือกเข้ามาอีก 3 เสียง ได้แก่ เจ้าผู้ปกครองแคว้นบาวาเรีย (Bavaria, ระหว่าง ค.ศ. 1623-1778) แคว้นฮันโนเวอร์ (Hanover, ตั้งแต่ ค.ศ. 1708) และแคว้นเฮสเซิน-คาสเซิล (Hessen-Kassel, ตั้งแต่ ค.ศ. 1803) เนื่องจากราชวงศ์ฮับสบูร์ก (House of Habsburg) แห่งออสเตรีย พยายามสถาปนาอำนาจเพื่อครอบครองสิทธิ์ในการถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิไว้กับสายเลือดของตน

ตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกผูกขาดไว้กับราชวงศ์ฮับสบูร์กในยุคหลัง ๆ ก่อนการล่มสลายในช่วงสงครามนโปเลียน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2545). สถานะของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 มิถุนายน-พฤศจิกายน: 177-197.

https://www.britannica.com/topic/elector

https://www.heraldica.org/topics/national/hre.htm

https://www.historisches-lexikon-bayerns.de/Lexikon/EN:Electors


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567