ตำนาน “พระเจ้าแตงหวาน” ประวัติศาสตร์อันเลือนลางและวุ่นวายก่อนเมืองพระนครถูกทิ้งร้าง

ปราสาทบายน ศูนย์กลาง อำนาจ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ แห่ง อาณาจักรขอม
ปราสาทบายน ศูนย์กลางอำนาจพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ภาพโดย Angkor Feel ใน Unsplash)

เรื่องราวกึ่งตำนาน ของ “นายแตงหวาน” หรือ พระเจ้าแตงหวาน เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายช่วงเวลาอันมืดมนและวุ่นวายของ อาณาจักรขอม แห่งเมืองพระนคร หรือ “พระนครหลวง” ซึ่งคือห้วงเวลาที่ราชอาณาจักรแห่งนี้จวนเจียนจะล่มสลาย

หลังสิ้นสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – 1761?) อาณาจักรขอม เริ่มเสื่อมอำนาจลงท่ามกลางผลงานมากมายที่พระองค์ทิ้งไว้ ได้แก่ ปราสาท เทวาลัย ศาสนสถานต่าง ๆ ไม่เพียงเป็นประจักษ์พยานพระราชนิยมที่โปรดการก่อสร้างอย่างมโหฬารเท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนว่าอาณาจักรของพระองค์จะอยู่ยืนยงไปอีกนาน แต่พระประสงค์ดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงได้

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ มาดแลน จิโต ได้เล่าไว้ใน ประวัติเมืองพระนครของขอม (สนพ. มติชน : 2566 ; ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล) ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคผู้ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือตั้งแต่ พระเจ้าอินทรวรมัน พระเจ้าชัยวรมนันที่ 8 เป็นต้นไปนั้นเต็มไปด้วยความเลือนลาง สับสนวุ่นวาย และความเสื่อมถอยทางอำนาจ

รวมถึงการ “แทรก” ตำนานมาอธิบายการเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ การรุกรานจากกองทัพอยุธยา ผลลัพธ์คือ กษัตริย์เขมรซึ่งเชื่อว่าเป็นลูกหลานของ “พระเจ้าแตงหวาน” ตัดสินใจทอดทิ้งราชธานีอันยิ่งใหญ่อย่าง เมืองพระนครหลวง ไปยังศูนย์กลางแห่งใหม่ทางใต้ของโตนเลสาบ จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลานั้น มีดังต่อไปนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

บรรดาพระราชารุ่นหลังที่เมือง “พระนครหลวง”

“พระเจ้าศรีนทรวรมัน” ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1838 ทั้งนี้ เนื่องจากพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ได้ทรงสละราชสมบัติ ไม่ว่าด้วยความเต็มพระทัยหรือไม่ก็ตาม

หลังจากพระเจ้าศรีนทรวรมัน จารึกขอมได้กล่าวถึงกษัตริย์อีก 2 องค์ ปรากฏว่าใน พ.ศ. 1850 พระเจ้าศรีนทรวรมันก็ทรงสละราชสมบัติพระราชทานแด่เจ้าชายองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระญาติ เจ้าชายองค์นี้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน” พระองค์ครองราชย์อยู่จนถึง พ.ศ. 1870 และในปีนั้น “พระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวร” ก็ขึ้นครองราชสมบัติ

มีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับกษัตริย์ขอมรุ่นสุดท้ายของเมือง “พระนครหลวง” เหล่านี้

ภายใต้รัชกาลของบรรดากษัตริย์ขอมเหล่านี้ ศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายคงจะเป็นศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำภายในราชสำนัก ดังที่จารึกและของถวายที่พระเจ้าศรีนทรชัยวรมันได้ถวายแก่เทวาลัยมังคลารัถได้แสดงไว้

อย่างไรก็ดี พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทก็มีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกที พร้อมกับพุทธศาสนาลัทธินี้ ความรู้ในภาษาบาลีก็เพิ่มพูนขึ้นด้วยในอาณาจักรขอม ปรากกฏว่า จารึกภาษาบาลีหลักแรกได้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1852

หลังจากที่ภาษาสันสกฤตซึ่งได้มาจากเมืองกบิลปุระได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวรแล้ว จารึกภาษาสันสกฤตในราชอาณาจักรขอมก็สุดสิ้นลง

ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรเขมรหรือประเทศกัมพูชาในสมัยต่อมา ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเขมรหลายเล่ม ซึ่ง (ล้วน) แต่งขึ้นในต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ 24

พระราชพงศาวดารเขมรฉบับที่เก่าที่สุดปรากฏอยู่แต่เพียงส่วนเดียว แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2339 (สมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย) ได้แปลเป็นภาษาไทย และพระราชาเขมรในขณะนั้นคือ “นักองค์เอง” ก็ได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระราชพงศาวดารเขมรอีกฉบับ คือ พระราชพงศาวดารเขมรฉบับออกญาวงศาสรรเพชญ (นง) ได้แต่งขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 24 โดยพระราชโองการของพระราชาเขมรคือ “นักองค์จันทร์” แต่งโดยขุนนางเขมรชื่อ “ออกญานง” แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยนายดูดาร์ต์ เดอ ลาเกร (Doudart de lagree) และตีพิมพ์โดยนายฟรานซิส การ์นีเออร์ (Francis Garnier) แต่ระยะศักราชของพระราชพงศาวดารเขมรทั้ง 2 ฉบับไม่ตรงกัน และยังแตกต่างออกไปจากพระราชพงศาวดารเขมรอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งนายมูรา (Moura) ใช้

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประวัติของเมืองพระนครหลวงในตอนนี้เรามีหลักฐานจากต่างประเทศมาประกอบ คือ หลักฐานทางด้านจีน ไทย เวียดนาม โปรตุเกส และสเปน

เราไม่สามารถทราบได้ว่า “พระเจ้าชัยวรรมาทิปรเมศวร” ทรงเกี่ยวดองกับ “พระเจ้านิรวาณบท” (นิพพานบท) ซึ่งเป็นพระราชาองค์แรกที่พระราชพงศาวดารเขมรกล่าวอ้างถึงอย่างไร

ตามตำนาน พระเจ้านิรวาณบททรงเป็นพระราชโอรสของ “คนทำสวน” ซึ่งได้ฆ่าพระราชาของตน ชาวสวนผู้นี้คือ “นายแตงหวาน” (Trasak Phaem) ผู้เป็นหัวหน้าสวนแตงหวาน

ตำนานที่มีชื่อเสียงของเขมรกล่าวว่า ชาวสวนผู้นี้มีนามว่านายแตงหวาน ได้ปลูกแตงหวานไว้ในไร่ของเขา เป็นแตงที่มีรสชาติโอชะมาก พระราชาที่ขึ้นครองราชย์อยู่ในขณะนั้นทรงโปรดปรานแตงชนิดนี้อย่างยิ่ง ได้ทรงสั่งให้ชาวสวนผู้นี้เก็บรักษาผลแตงทั้งหมดไว้ถวายเฉพาะพระองค์ และเพื่อจะมิให้ผู้ใดมาขโมยผลแตงเหล่านี้ไปได้ พระองค์ก็ได้พระราชทานหอกเล่มหนึ่งให้แก่นายแตงหวาน เพื่อจะได้ฆ่าขโมยทุกคนที่เข้ามาขโมยแตงในไร่

คืนหนึ่ง พระราชาอยากจะเสวยแตงหวานนี้มาก จึงเสด็จเข้าไปในไร่นั้น แต่ก็ทรงประสบเคราะห์กรรมเพราะนายแตงหวานไม่ทราบว่าเป็นพระองค์ จึงได้ประหารพระองค์เสีย

พระราชาทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง และก็ได้มีการใช้ช้างหลวงให้ไปเลือกผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อ ช้างได้มาหยุดอยู่ต่อหน้านนายแตงหวานและแสดงความเคารพต่อเขา ชาวสวนผู้นี้จึงได้สมรสกับพระราชธิดาตามประเพณีที่ทำให้เป็นผู้ขึ้นครองราชสมบัติโดยการเปลี่ยนราชวงศ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พระเจ้าแตงหวานได้ทรงขยายพระราชอำนาจของพระองค์ออกไปทั่วอาณาจักรเขมรที่ไม่ยอมอ่อนน้อม และต่อมาพระเจ้านิรวาณบทซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ พระราชพงศาวดารเขมรหลายฉบับได้กล่าวว่า พระเจ้านิรวาณบทได้เสด็จขึ้นครองราชใน พ.ศ. 1889 พระองค์และพระราชาเขมรที่สืบต่อลงมารุ่นแรก ๆ ก็ยังคงประทับที่ พระนครหลวง

เป็นการยากที่จะทราบได้ว่า พระราชาเขมรได้ทรงละทิ้งเมืองพระนครหลวงเมื่อใด ทั้งนี้ เพื่อย้ายไปประทับในลุ่มแม่น้ำโขงเพราะทรงต้องการที่จะหลุดพ้นจากการรุกรานของกองทัพไทย

ถ้าเราเชื่อตามพระราชพงศาวดารฉบับออกญานง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งพระนครศรีอยุธยาก็ได้ทรงยกทัพมาและยึดเมืองนครหลวงได้ใน พ.ศ. 1896 ภายในรัชกาลของพระราชโอรสของพระเจ้านิรวาณบท แต่ศักราชนี้อาจจะผิดก็ได้ เพราะในหนังสือพระราชพงศาวดารยึดถือปีนักษัตรเป็นเกณฑ์ เจ้าชายไทยได้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนครหลวง แต่ราว พ.ศ. 1901 เจ้าชายเขมรก็เข้ายึดเมืองพระนครหลวงคืนได้ และขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า “สุริยวงศ์ราชาธิราช”

ตั้งแต่บัดนั้นมา การสงครามระหว่างเขมรกับไทยก็มีอยู่เกือบเป็นประจำ ราว พ.ศ. 1913 กองทัพไทยก็ได้ยกเข้าโจมตีประเทศกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง และเข้ายึดเมืองพระนครหลวงได้อีก ทำให้พระราชาเขมรที่ขึ้นครองราชย์อยู่สิ้นพระชนม์ และเจ้าชายไทยก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ

จากพระราชพงศาวดารฉบับออกญานง เจ้าชายเขมรคือ พระยาญาติ (เจ้าพ้นหัวญาติ) ได้ประหารพระราชาไทยเสียและเข้ายึดราชสมบัติกลับคืน หลังจากเสวยราชย์ได้ 12 ปี พระยาญาติก็ตกลงพระทัยที่จะละทิ้งเมืองพระครหลวงและเสด็จไปสร้างราชธานีใหม่แถบลุ่มแม่น้ำโขง ชั้นแรกที่เมืองบาสัน (Basan) ในแถบเมืองสรีสันถาน (Sri Santhor) และต่อจากนั้นจึงย้ายไปประทับที่เมืองพนมเปญ

อย่างไรก็ดี พระราชพงศาวดารเขมรฉบับที่นายมูราใช้ก็ได้ให้ระยะเวลาเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ช้ากว่าที่กล่าวมาแล้วมาก

พระราชพงศาวดารเขมรฉบับที่นายมูราใช้ได้กล่าวว่า การขึ้นเสวยราชสมบัติของพระยาญาติและการละทิ้งเมืองพระนครหลวงเกิดขึ้นภายหลัง “สมเด็จพระบรมราชาที่ 2” (เจ้าสามพระยา) ทรงเข้ายึดเมืองพระนครหลวงไว้ได้ใน พ.ศ. 1974

นักประวัติศาสตร์อเมริกัน คือนายวอลเตอร์ส (O.W. Wolters) ได้ตีความใหม่จากหลักฐานทางด้านจดหมายเหตุจีนและเขมร และได้เสนอว่า หลังจากการรุกรานของกองทัพไทยใน พ.ศ. 1913 พระราชาเขมรก็คงจะได้เสร็จไปประทับที่เมืองบาสัน แต่ผู้ที่สืบต่อมาจากพระองค์คงจะเสร็จกลับมาประทับที่เมืองพระนครหลวงดังเดิม

ดูเหมือนว่าราชธานีเก่าแห่งนี้จะถูกละทิ้งโดยพระราชาขอมหลายครั้ง ก่อนที่จะถูกทอดทิ้งอย่างแน่นอนเป็นครั้งสุดท้าย

เท่าที่เราสามารถทราบได้ในปัจจุบัน ก็เป็นการยากที่จะทราบได้ว่า เมืองพระนครหลวงมีสภาพเป็นอย่างไรในพุทธศตวรรษที่ 20-21 การละทิ้งราชธานีแห่งนี้อย่างแน่นอนเป็นครั้งสุดท้ายคงจะเกิดขึ้นภายหลังการรุกรานของกองทัพไทยใน พ.ศ. 1974 (ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา – ผู้เขียน)

ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่ คิดว่า ในตอนนั้นเมืองพระนครหลวงคงจะถูกปล้นสะดม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 คงจะได้ทรงนำเทวรูป เครื่องราชูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประติมากรรมซึ่งอยู่ที่เกาะราชัยศรี (ปราสาทนาคพัน) ก็คงจะถูกขนไปโดยการเจาะกำแพงที่ล้อมรอบทางด้านทิศเหนือและใต้

ท่านได้เขียนเพิ่มเติมด้วยว่า ด้วยการกระทำให้เครื่องราชูปโภคและเครื่องประกันแห่งราชอำนาจต้องเปลี่ยนเจ้าของด้วยการเคลื่อนย้ายสิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ยังพระนครศรีอยุธยา ก็หมายความว่า พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงคิดว่าได้ทรงนำมาพระราชทานแด่ราชวงศ์ของพระองค์ และตั้งแต่นั้นมา ราชวงศ์นี้ (ราชวงศ์สุพรรณบุรี) ก็ได้เป็นผู้ครองราชอำนาจ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เคยทรงรวบรวมไว้ ณ บริเวณเมืองพระนครหลวงมาแต่ก่อน

เมือง “พระนครหลวง” คงจะถูกทอดทิ้งอย่างสมบูรณ์และในไม่ช้าก็กลายเป็นป่า ในขณะที่พระราชาเขมรได้เสด็จกลับมาประทับ ณ ที่นั้น อีกครั้งหนึ่งในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 22

กล่าวโดยสรุป หลังสิ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอม แห่งเมืองพระนครมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมาอีก 5 พระองค์ (อินทรวรมันที่ 2, ชัยวรมันที่ 8, ศรีนทรวรมัน, ศรีนทรชัยวรมัน และ ชัยวรรมาทิปรเมศวร) ถัดจากนั้นจึงปรากฏพระนามกษัตริย์องค์แรกในพระราชพงศาวดารเขมร คือ พระเจ้านิรวาณบท ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนปรากฏหลักฐานการทิ้งเมืองพระนครหลวงในสมัยพระยาญาติ หรือกลางพุทธศตวรรษที่ 20 โดยมีอยุธยาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของภูมิภาคแทน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2567